วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

[พิเศษ] ดาวเทียมยูอาร์ส (UARS) จะตกลงสู่โลก [อัปเดตอีกรอบ]


โปรดอย่าตกใจ!

    วรเชษฐ์ บุญปลอด - สมาคมดาราศาสตร์ไทย
คัดลอกจาก http://thaiastro.nectec.or.th/news/2011/special/uars.html
อัปเดตใหม่ล่าสุด 23/9/2554!!!
ดาวเทียมยูอาร์ส
เทียบกับความสูงของมนุษย์โดยประมาณ
(ภาพดาวเทียมจาก NASA)
    ดาวเทียมขององค์การนาซาจะตกสู่โลกอย่างไร้การควบคุม คาดว่ามีชิ้นส่วนโลหะหลงเหลือกว่า 500 กิโลกรัม ตกลงสู่พื้นโลก มีโอกาสน้อยมากที่คนบนโลกจะได้รับอันตราย ขณะนี้คาดว่าอาจตกในวันที่ 22-24 กันยายน 2554 ยังไม่สามารถระบุจุดตกที่แน่นอนได้ -- บทความนี้จะปรับปรุงเป็นระยะ จนกระทั่งวันที่ดาวเทียมตก
ดาวเทียมยูอาร์ส
     ดาวเทียมวิจัยบรรยากาศชั้นบนหรือยูอาร์ส (Upper Atmosphere Research Satellite : UARS) เป็นดาวเทียมขนาด 4.5 × 11 เมตร หนัก 5.7 ตัน ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ได้นำไปปล่อยในอวกาศเมื่อเดือนกันยายน 2534 โดยบรรทุกไปกับกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี ภารกิจคือการสำรวจบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ดาวเทียมทำงานอยู่ในวงโคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 580 กิโลเมตร หลังจากสิ้นสุดภารกิจแล้ว ปลายปี 2548 นาซาได้ใช้เชื้อเพลิงที่เหลืออยู่บนดาวเทียม ดึงดาวเทียมลงมาที่วงโคจร 360 × 510 กิโลเมตร เหนือผิวโลก เพื่อปล่อยให้ค่อย ๆ ตกลงมาด้วยแรงต้านจากชั้นบรรยากาศ
นาซาเตือนยูอาร์สใกล้ตก
     วันที่ 9 กันยายน 2554 นาซาแถลงว่าดาวเทียมยูอาร์สจะตกในปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม 2554 โดยปราศจากการควบคุม เนื่องจากไม่เหลือเชื้อเพลิงบนดาวเทียม พร้อมระบุว่ามีโอกาส 1 ใน 3,200 หรือ 0.03% ที่ชิ้นส่วนดาวเทียมจะตกใส่คนจนก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือล้มตาย นาซากล่าวว่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีรายงานที่ยืนยันได้ว่ามนุษย์ได้รับอันตรายจากการตกของชิ้นส่วนดาวเทียมหรือขยะอวกาศอื่นๆ เว็บไซต์ของแอโรสเปซระบุว่ามีสตรีคนหนึ่งในรัฐโอคลาโฮมา โดนชิ้นส่วนจรวดขนาด 6 นิ้ว ชนเข้าที่ไหล่เมื่อปี 2540 แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากถูกชนเบา ๆ แม้ความเสี่ยงจะต่ำมาก แต่นาซาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และกำลังเฝ้าติดตามดาวเทียมดวงนี้อย่างใกล้ชิด

วงโคจรในขณะหนึ่งของดาวเทียมยูอาร์ส
ยังไม่ทราบเวลาตก
     ในเบื้องต้นไม่สามารถระบุได้ว่ายูอาร์สจะตกในวันใดหรือบริเวณใด วงโคจรที่เอียง 57° กับเส้นศูนย์สูตร ทำให้บอกได้แต่เพียงว่าจุดตกอยู่ในช่วงละติจูด 57° เหนือ ลงไปถึงละติจูด 57° ใต้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ที่มีประชากรโลกอาศัยอยู่เกือบทั้งหมด ส่วนวันและเวลานั้น ขณะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นาซาประเมินว่าอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม โดยระบุในเว็บไซต์เมื่อวันที่ 12 กันยายนว่าอาจเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือน และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน คาดว่ายูอาร์สจะตกในวันที่ 23 กันยายน (± 1 วัน)
     ศูนย์ปฏิบัติการอวกาศร่วม (Joint Space Operations Center หรือ JSpOC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กองบัญชาการยุทธศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Strategic Command) จะแจ้งผลการพยากรณ์เวลาตกให้เราทราบเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์จุดตกมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอของความหนาแน่นในชั้นบรรยากาศ แม้ก่อนตก 2 ชั่วโมง ก็ยังอาจคลาดเคลื่อนได้อีกราวครึ่งชั่วโมง เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่านักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุจุดตกที่แม่นยำได้ แต่จะตีกรอบให้แคบลงจนสามารถบอกได้ว่าดาวเทียมมีเส้นทางผ่านบริเวณใดบ้างขณะที่มันกำลังลุกไหม้ในบรรยากาศ
     ข้อมูลจากแบบจำลองการตกของดาวเทียมดวงนี้ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2545 ประเมินว่าดาวเทียมจะเริ่มลุกไหม้จนชิ้นส่วนต่าง ๆ แยกออกจากกันที่ความสูงประมาณ 80 กิโลเมตร เกือบทั้งหมดถูกเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ แต่จะมีโลหะขนาดต่าง ๆ กันราว 26 ชิ้น และชิ้นส่วนเล็ก ๆ อีกหลายชิ้น น้ำหนักรวม 532 กิโลกรัม หลุดรอดลงมาถึงพื้นดิน
     เศษซากเหล่านี้ทยอยตกเป็นแนวยาว 800 กิโลเมตร ตามเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเทียมขณะที่มันพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ ซากที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเหล็กกล้า อะลูมิเนียม โลหะไทเทเนียม และเบริลเลียม มีรูปทรงหลายแบบ ทั้งเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ทรงกระบอก ทรงกลม และเป็นแผ่น ชิ้นใหญ่ที่สุดหนักราว 160 กิโลกรัม หากมีการพบเห็นชิ้นส่วนดาวเทียมตกที่ใดให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงการแตะต้อง
สามารถมองเห็นได้หรือไม่
ตัวอย่างเส้นทางดาวเทียมยูอาร์ส จะเห็นว่าดาวเทียมเคลื่อนที่อยู่ระหว่างละติจูด 57° เหนือและใต้
     ขณะที่ดาวเทียมยูอาร์สตกสู่โลก หากเราอยู่ในรัศมีการมองเห็น (ห่างไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร ในแนวราบ) ถ้าเป็นเวลากลางคืน จะเห็นลูกไฟสว่างหลายลูกพุ่งเป็นทางยาวไปพร้อมกันบนท้องฟ้า ถ้าเป็นเวลากลางวัน มันจะสว่างจนมองเห็นได้ ส่วนใหญ่เมื่อใกล้ถึงพื้นจะมีความเร็วต่ำ ยกเว้นชิ้นที่หนักมาก นาซาคำนวณว่าจะมีความเร็วสูงถึง 107 เมตร/วินาที (385 กิโลเมตร/ชั่วโมง) หากพบว่าดาวเทียมมีโอกาสตกบนพื้นดินหรือเขตเมืองที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น อาจมีคำแนะนำถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงอันเกิดจากการตกของดาวเทียม ซึ่งก็คือไม่อยู่กลางแจ้ง อย่างไรก็ตาม อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะดาวเทียมดวงนี้ไม่ได้บรรจุสารที่เป็นพิษ และมีโอกาสน้อยที่เราจะได้รับบาดเจ็บโดยตรงจากชิ้นส่วนดาวเทียม
     ในอดีต สถานีอวกาศมีร์ของรัสเซียหนักราว 120 ตัน เคยตกในปี 2544 แต่เป็นการควบคุมให้ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก จึงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้คนบนพื้นโลก ส่วนสถานีอวกาศสกายแล็บหนักราว 80 ตัน ตกเมื่อปี 2522 ชิ้นส่วนกระจายในมหาสมุทรอินเดียและดินแดนที่มีคนอาศัยอยู่เบาบางทางตะวันตกของออสเตรเลีย ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย
การสังเกตในประเทศไทย
ชิ้นส่วนจรวดชิ้นหนึ่งของนาซา
ผ่านบรรยากาศโลกมาตกใกล้กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2548
มีขนาด 1×2 เมตร เป็นโลหะไทเทเนียม
หนัก 50 กิโลกรัม ชิ้นส่วนจรวดชนิดเดียวกันนี้
นอกจากประเทศไทย เคยมีรายงานตกที่ซาอุดีอาระเบีย
อาร์เจนตินา และอุรุกวัย
(ภาพ - The Orbital Debris Quarterly News, Volume 9, Issue 2, April 2005)
     หากดาวเทียมยูอาร์สยังไม่ตกไปก่อน คาดว่ามันจะผ่านเหนือท้องฟ้าประเทศไทยในเช้ามืดวันที่ 22 และ 23 กันยายน สามารถสังเกตเห็นได้ โดยปรากฏเป็นเหมือนดาวดวงหนึ่งเคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า แต่สว่างน้อยกว่าสถานีอวกาศนานาชาติ หากบังเอิญตรงกับช่วงที่ใกล้ตกพอดี เราก็อาจเห็นการตกของดาวเทียมดวงนี้ ส่วนเวลายังเป็นเพียงการคาดหมายจากวงโคจรล่าสุด ไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน เนื่องจากวงโคจรมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
     ด้านล่างเป็นแผนภาพแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่อย่างคร่าว ๆ ของดาวเทียมยูอาร์สในวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน เมื่อสังเกตจากกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง วงกลมรอบนอกคือขอบฟ้า ตรงกลางคือจุดเหนือศีรษะ ดาวเทียมยูอาร์สเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือ จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้น ทำมุมสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเคลื่อนต่ำลง ไปสิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ (เมื่อใกล้วัน แผนภาพนี้จะได้รับการปรับปรุงอีกครั้งตามวงโคจรที่เปลี่ยนไป)
ภาพท้องฟ้าเมื่อ UARS ผ่านในแต่ละจังหวัดดูที่  http://thaiastro.nectec.or.th/news/2011/special/uars.html     
ความเคลื่อนไหวล่าสุด

     กราฟระยะห่างจากพื้นโลกของดาวเทียมยูอาร์ส เส้นประเป็นผลการพยากรณ์จากวงโคจร ณ วันที่ 19 กันยายน 2554 จากกราฟนี้ คาดหมายว่าัวันที่ 23 กันยายน ดาวเทียมจะแตะระดับ 120 กิโลเมตร ซึ่งความหนาแน่นในบรรยากาศจะสูงมากพอจนดาวเทียมเริ่มเผาไหม้ จากนั้นถูกทำลายอย่างรุนแรงที่ความสูง 70-80 กิโลเมตร

    • 23 กันยายน 2554
      • เวลา 08:47 น. ดาวเทียมโคจรเป็นวงรีอยู่ที่ระดับ 171 × 180 กม. คาบ 88.0 นาที
      • เวลา 07:17 น. JSpOC พยากรณ์ว่ายูอาร์สจะตกในวันที่ 24 กันยายน เวลา 07:42 น. (± 15 ชั่วโมง)
      • เวลา 05:51 น. ดาวเทียมโคจรเป็นวงรีอยู่ที่ระดับ 173 × 183 กม. คาบ 88.1 นาที
      • จากวงโคจรเวลา 02:55 น. แอโรสเปซพยากรณ์ว่ายูอาร์สจะตกในวันที่ 24 กันยายน เวลา 07:58 น. (± 7 ชั่วโมง)
      • เวลา 02:55 น. ดาวเทียมโคจรเป็นวงรีอยู่ที่ระดับ 176 × 186 กม. คาบ 88.1 นาที
    • 20 กันยายน 2554 เวลา 20:23 น. ดาวเทียมโคจรเป็นวงรีอยู่ที่ระดับ 203 × 220 กม. คาบ 88.7 นาที
      *แอโรสเปซพยากรณ์ว่ายูอาร์สจะตกในวันที่ 24 กันยายน 2554 เวลา 03:36 น. (± 20 ชั่วโมง)*
  • วันที่ 19 กันยายน 2554 เวลา 19:14 น. ดาวเทียมโคจรเป็นวงรีอยู่ที่ระดับ 210 × 229 กิโลเมตร คาบ 88.9 นาที
  • วันที่ 18 กันยายน 2554 เวลา 21:00 น. ดาวเทียมโคจรเป็นวงรีอยู่ที่ระดับ 215 × 237 กิโลเมตร คาบ 89.0 นาที

กราฟระยะห่างจากพื้นโลกของดาวเทียมยูอาร์ส เส้นประเป็นผลการพยากรณ์จากวงโคจร
ณ วันที่ 19 กันยายน 2554 จากกราฟนี้ คาดหมายว่าวันที่ 23 กันยายน
ดาวเทียมจะแตะระดับ 120 กิโลเมตร ซึ่งความหนาแน่นในบรรยากาศจะสูงมากพอจนดาวเทียมเริ่มเผาไหม้
จากนั้นถูกทำลายอย่างรุนแรงที่ความสูง 70-80 กิโลเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

5 อันดับบทความยอดนิยมตลอดกาล