วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บริวารใหม่ของพลูโต


นักดาราศาสตร์ค้นพบบริวารดวงใหม่ของดาวพลูโตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวงจากการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
ก่อนหน้านี้ดาวพลูโตมีบริวารที่รู้จักเพียงสามดวง ได้แก่ คารอน นิกซ์ และ ไฮดรา นิกซ์กับไฮดราค้นพบในปี 2548 โดยกล้องฮับเบิลเช่นกัน คารอนถูกค้นพบในปี 2521
ตำแหน่งวงโคจรของบริวารดวงใหม่
อยู่ระหว่างนิกซ์และไฮดรา
บริวารดวงใหม่นี้มีชื่อชั่วคราวว่า พี 4 (P4) เป็นดวงที่เล็กที่สุดในบรรดาบริวารทั้งสี่ของพลูโต คาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 13-34 กิโลเมตร เทียบกับบริวารดวงอื่นที่รู้จักก่อนหน้านี้ คารอน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,043 กิโลเมตร นิกซ์และไฮดรา มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 32-113 กิโลเมตร ส่วนวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของนิกซ์กับไฮดรา
ระบบดาวบริวารของพลูโตคาดว่าเกิดจากการพุ่งชนระหว่างพลูโตกับวัตถุขนาดใหญ่ระดับดาวเคราะห์ในช่วงต้นของระบบสุริยะ เศษดาวที่กระจัดกระจายออกจากแรงชนได้รวมตัวกันเป็นบริวารต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

ภาพของพี 4 ถูกถ่ายได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โดยกล้องมุมกว้างหมายเลข 3 ของฮับเบิล หลังจากนั้นการสำรวจเพิ่มเติมในวันที่ 3 และ 18 กรกฎาคมก็ได้ยืนยันการค้นพบนั้น
พี 4 หลุดรอดสายตาของฮับเบิลมานานเนื่องจากภาพถ่ายพลูโตของฮับเบิลก่อนหน้านี้ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบภาพจากฮับเบิลย้อนหลังไปพบว่าภาพหนึ่งที่ถ่ายในปี 2549 ได้ติดภาพของพี 4 อยู่ด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีใครสังเกตเห็นเนื่องจากจุดแสงนั้นเลือนลางมาก
การค้นพบครั้งนี้เป็นความบังเอิญ เพราะไม่ได้เกิดจากความพยายามค้นหาบริวาร แต่เกิดจากการค้นหาวงแหวนของพลูโต ซึ่งเป็นการสำรวจเพื่อสนับสนุนภารกิจนิวเฮอไรซอนส์ของนาซา ที่จะไปถึงดาวพลูโตในราวปี 2558
แน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้ย่อมมีผลต่อแผนการสำรวจของนิวเฮอไรซอนส์ด้วย เพราะมีเป้าหมายให้สำรวจมากขึ้นอีกหนึ่งดวงแล้ว

โดย วิมุติ วสะหลาย
(สมาคมดาราศาสตร์ไทย)
คัดลอกจาก : http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=104-สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

5 อันดับบทความยอดนิยมตลอดกาล